ความรู้ทั่วไป

ภาชนะเมลามีน เลือกใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

Publish On 24, Jun 2019 | ภาชนะเมลามีน เลือกใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

Technical FAQ: ภาชนะเมลามีน เลือกใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

 

เมลามีน ถูกนำมาผลิตเป็นจาน ชาม หรือภาชนะใส่อาหารที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะนอกจากความสวยงามของลวดลายที่หลากหลายแล้ว ความคงทนก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ร้านค้า ครัวเรือน ต่างเลือกใช้ภาชนะเมลามีนกันอย่างแพร่หลาย

 

จากความนิยมใช้ภาชนะเมลามีนนี้เอง ทำให้มีภาชนะเลียนแบบที่ผลิตจากวัสดุที่มีลักษณะคล้ายเมลามีนวางจำหน่ายตามท้องตลาดมากมาย ซึ่งใช้วัตถุดิบที่ไม่เหมาะสมต่อการผลิตภาชนะบรรจุอาหาร โดยเมื่อนำไปใช้งานแล้วสารเคมีจากภาชนะจะมีโอกาสปนเปื้อนลงสู่อาหารจนก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้บริโภคจึงควรทราบถึงข้อสังเกตในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เมลามีนที่มีคุณภาพที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมจึงจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

 

 

 

 

คุณอุมา บริบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายวัสดุสัมผัสอาหาร รองผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า

 

“ในปี  2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทำการสำรวจภาชนะที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด แล้วนำมาตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง Fourier Transform Infrared Spectrophotometer (FT-IR) พบว่ามีทั้งผลิตภัณฑ์เมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ (Melamine Formaldehyde) หรือเรียกว่าเมลามีน 100% ซึ่งถูกต้องตรงตามฉลากที่ระบุ และพบผลิตภัณฑ์ยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ (Urea-Formaldehyde) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตั้งใจทำให้ดูคล้ายเมลามีน แต่ไม่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เป็นภาชนะใส่อาหาร โดยภาชนะที่พบนี้ หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะไม่สามารถแยกความแตกต่างได้เลย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องมีมาตรการในการรณรงค์ให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจถึงคุณภาพของภาชนะใส่อาหารซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค”

 

 

 

 

โดยคุณอุมาแนะนำให้ตั้งข้อสังเกตเบื้องต้น ดังนี้

 

  1. ตรวจสอบเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน เช่น เครื่องหมายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามมาตรฐานนี้จะต้องผ่านการตรวจสอบทั้งคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการใช้งาน และผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย สามารถใช้บรรจุอาหารได้ตามที่ฉลากระบุไว้
  2. หากไม่มีเครื่องหมายรับรอง ต้องมีฉลากที่ระบุชนิดของวัตถุดิบที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์ว่าเป็นเมลามีน 100%
  3. สังเกตฉลาก ควรมีข้อกำหนดการใช้งาน และมีแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้

 

แม้เมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ กับ ยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ จะเป็นแอมิโนพลาสติก (Aminoplastic) ในกลุ่มเทอร์มอเซต (Thermoset Plasticเหมือนกัน แต่ผ่านกระบวนการผลิตต่างกันทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง โดยเมลามีนเมื่อทำปฏิกิริยากับฟอร์มาลดีไฮด์จะได้สารประกอบที่มีโครงสร้างการจัดเรียงตัวของโมเลกุลในลักษณะโครงร่างตาข่ายที่แข็งแรงกว่ายูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ ที่สำคัญเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือที่ระบุว่า ภาชนะเมลามีน 100% ได้รับการรับรองคุณภาพและความปลอดภัย ตามเกณฑ์มาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มอก. 524-2539 อีกด้วย

 

ความเป็นจริงนั้น ยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ มีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภทเท่านั้น อาทิ ตัวถังรถยนต์ เครื่องสุขภัณฑ์ ปลั๊กไฟ เป็นต้น ดังนั้นผู้นำเข้าสินค้าหรือผู้ผลิตจากต่างประเทศที่ไม่มีความรับผิดชอบจึงนำภาชนะเหล่านี้มาจำหน่ายในราคาถูก แต่ภาชนะเหล่านี้ หากสัมผัสกับอาหารที่มีความร้อนสูง มีไขมัน หรือเป็นกรด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารรสจัดของไทย เช่น ต้มยำ แกงส้ม ผัดกะเพรา จะทำให้สารอันตรายจากยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์แพร่ออกมาได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง

 

 

 

 

ผู้บริโภคจึงควรตระหนักถึงอันตรายแม้เพียงจุดเล็กน้อยที่อยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มอก. และผลิตจากบริษัทผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือซึ่งได้การรับรองตามมาตรฐาน มอก. เท่านั้น

 

 

 

การทดสอบทางเคมีระหว่าง เมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือชิ้นงานเมลามีน 100% (ขวา) และ ยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ (ซ้าย)

 

 

1. สภาพก่อนการทดสอบ เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างได้เลย

 

สภาพก่อนการทดสอบ

 

 

 

2. ทดสอบด้วยการต้มในน้ำเดือด 10 รอบการทดสอบ พบว่าความเงาของชิ้นงานยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ลดลง ในขณะที่ชิ้นงานเมลามีน 100% จะคงความเงาในลักษณะเดิมอยู่

 

ทดสอบด้วยการต้มในน้ำเดือด 10 รอบการทดสอบ

 

 

 

3. ทดสอบการติดสีด้วยโรดามีน พบว่าชิ้นงานยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ จะติดสีของโรดามีนได้ง่ายมาก แต่ในขณะที่ชิ้นงานเมลามีน 100% จะพบการติดสีที่น้อยกว่า ซึ่งการทดสอบนี้เป็นการจำลองอาหารที่สามารถทิ้งคราบไว้บนภาชนะได้ เช่น แกงส้ม แกงเหลือง เย็นตาโฟ เป็นต้น

 

ทดสอบการติดสีด้วยโรดามีน

 

 

 

4. ทดสอบด้วยกรด พบว่าชิ้นงานยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ ไม่สามารถทนต่อการทดสอบด้วยกรดได้ ส่งผลให้ผิวชิ้นงานถูกทำลายไปอย่างมาก แต่ในขณะที่ชิ้นงานเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ สามารถทนต่อการทดสอบด้วยกรดได้ดี ซึ่งการทดสอบนี้คล้ายกับการจำลองอาหารรสจัดประเภทต้มยำที่คนไทยชื่นชอบ

 

ทดสอบด้วยกรด

 

 

 

การเลือกใช้ภาชนะเมลามีนในปัจจุบัน นอกจากต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิตและวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานแล้ว เรื่องของดีไซน์สีสัน ลวดลาย ก็นับเป็นอีกปัจจัยที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ บริษัท ไทย เอ็มเอฟซี จำกัด ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ผู้ผลิตวัตถุดิบเมลามีน จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องในทุกด้าน ทั้งการวิจัย การออกแบบวัสดุ ตลอดจนการเลือกส่วนผสม เพื่อเพิ่มความสามารถให้ผู้ผลิตจานชามเมลามีนสามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้หลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น อาทิ สีเอิร์ธโทน ผิวสัมผัสและลวดลายหินทราย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก

 

 

ขอบคุณชิ้นงานจากบริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)

 

ที่มา: https://www.allaroundplastics.com/article/news/2359

เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกด้วยกระบวนการ Rotational Molding

Publish On 30, Jun 2017 | เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกด้วยกระบวนการ Rotational Molding

 

 

 

การขึ้นรูปชิ้นงานพลาสติกมีวิธีการที่หลากหลายซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดี-ข้อด้อย รวมไปถึงความเหมาะสมกับความต้องการของตลาด ต้นทุนและจำนวนการผลิตที่แตกต่างกัน สำหรับการขึ้นรูปด้วยกระบวนการผลิตแบบหมุนเหวี่ยง (Rotational Molding หรือ Rotomolding) นั้น จุดเด่นคือแม่พิมพ์ราคาไม่แพง เหมาะกับชิ้นงานที่จำนวนผลิตไม่เยอะ (100-10,000 ชิ้นต่อปี) และเหมาะกับชิ้นงานขนาดใหญ่ที่ด้านในมีความกลวง ชิ้นงานมีความหลากหลายของรูปทรง เช่น ถังบรรจุน้ำ ถังบำบัดน้ำเสีย และถังแช่น้ำแข็ง เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ได้ชิ้นงานที่หนา (3-20 มิลลิเมตร) ทนทาน และอายุการใช้งานยาวนาน แต่อย่างไรก็ตามชิ้นงาน Rotomolding เช่น ถังแช่ขนาดใหญ่ที่มีหลุมลึก (เกิน 30 ซม. ขึ้นไป) ส่วนก้นชิ้นงานจะบางกว่าผนังด้านข้าง ทำให้ได้ชิ้นงานที่ไม่แข็งแรงทนทานและรองรับน้ำหนักได้ไม่ดี

 

 

 

 

 

 

   เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยวิธี Rotational Molding ทีม Technical Service Development (TS & D) เอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจากลูกค้าดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จึงศึกษาหาข้อมูลและนำมาพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ จนเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเฉลี่ยหรือกระจายความร้อนไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ของแม่พิมพ์ได้ทั่วถึงและสม่ำเสมอยิ่งขึ้น โดยมีทั้งเทคนิคการเพิ่มความร้อนและลดความร้อน

 

 

 

ภาพ 1 “เทคนิคการหักเหกระแสลม”

 

สำหรับชิ้นงานที่บางไปนั้น สามารถแก้ไขด้วย 3 เทคนิคดังนี้ เทคนิคที่ 1 “เทคนิคการหักเหกระแสลม” ซึ่งเป็นการเพิ่มความร้อนด้านในแม่พิมพ์ด้วยแผ่นกั้นลม (แผ่นโลหะหนา 1-2 มิลลิเมตร) ช่วยให้เกิดการไหลเวียนของลมร้อนได้สม่ำเสมอทั่วแม่พิมพ์

 

 

ภาพ 2 เทคนิคการเพิ่มลม/เป่าลม

 

   นอกจากนี้ยังมีเทคนิคที่ 2 “เทคนิคการเพิ่มลม/เป่าลม” ด้วยเครื่องอัดแรงดันอากาศเพื่อดึงอากาศร้อนจากภายในเตาเข้าไปสู่จุดอับลมของแม่พิมพ์

 

 

ภาพ 3 เทคนิคการเพิ่มความร้อนด้วยการเพิ่มผิวสัมผัสของแม่พิมพ์

 

   หรือเลือกใช้เทคนิคสุดท้าย “เทคนิคการเพิ่มความร้อนด้วยการเพิ่มผิวสัมผัสของแม่พิมพ์” ซึ่งเพิ่ม Surface Area หรือพื้นที่ผิวสัมผัสของแม่พิมพ์เพื่อให้แม่พิมพ์ที่จุดนั้นรับความร้อนได้มากยิ่งขึ้น โดยหล่อหรือเชื่อมให้แม่พิมพ์มีหนามที่บริเวณพื้นผิว

 

   หากผนังด้านข้างหนาไปควรปรับลดความร้อนบริเวณพื้นผิวด้านนอกแม่พิมพ์เพื่อเฉลี่ยความร้อนให้เท่ากับภายในแม่พิมพ์โดยใช้ “เทคนิคการบังไฟ” โดยมี 2 เทคนิคดังนี้ เทคนิคที่ 1 คือ Heat Shielding การบังไฟ โดยนำแผ่นโลหะ  เช่น แผ่นสังกะสี (ความหนา 1-2 มิลลิเมตร) มากั้นระหว่างไฟกับแม่พิมพ์ และเทคนิคที่ 2 คือ Heat Insulation การนำฉนวนใยแก้วมาติดบนผิวด้านนอกแม่พิมพ์โดยใช้แผ่นฉนวนใยแก้ว (ความหนา 3-12 มิลลิเมตร) ติดไว้ที่ผิวด้านนอกแม่พิมพ์

 

 

ภาพ 4 เทคนิคการบังไฟ

 

 

ภาพ 5 – 6 การใช้ฉนวนใยแก้ว

 

 

 

เทคนิคต่าง ๆ ที่ทีม TS & D เอสซีจี เคมิคอลส์ แนะนำให้กับผู้ผลิตถังแช่ นอกจากจะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกด้วยกระบวนการ Rotational Molding ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ยังสะท้อนว่าทุกปัญหาของลูกค้าคือปัญหาของเรา ไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็กหรือใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ มีทีมงานคุณภาพที่พร้อมรับฟังและพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่

 

หมายเหตุ: เทคนิคเหล่านี้ใช้ได้ดีที่สุดกับการขึ้นรูปแบบเตาอบ (Oven)

ที่มา: https://www.allaroundplastics.com/article/news/1505

หน้าที่ 1 จาก 2

บจก.สยามบราเดอร์
บจก.สยามบราเดอร์
บจก.ศตวรรษพลาสติก
บจก.ศตวรรษพลาสติก
เราเป็นผู้จำหน่ายเม็ดพลาสติก
บจก.เทพวิจิตรอุตสาหกรรม
บจก.เทพวิจิตรอุตสาหกรรม
บจก.เกรียงไทยพลาสเท็ค
บจก.เกรียงไทยพลาสเท็ค
บจก.วัลย์ดีพาณิชย์อุตสาหกรรม
บจก.สุขเจริญเทรดดิ้ง
บจก.สุขเจริญเทรดดิ้ง
บจก.โรงงานทอผ้าใบไนล่อนชัยศิริ
บจก.โรงงานทอผ้าใบไนล่อนชัยศิริ
บจก.โปลิโฟมอุตสาหกรรม
บจก.โปลิโฟมอุตสาหกรรม
บจก.ไทยเพ็ทอุตสาหกรรม
บมจ.ทานตะวันอุตสาหกรรม
บจก.ไทย-เอเซีย พี.อี. ไพ้พ์
บจก.ไทย-เอเซีย พี.อี. ไพ้พ์
บจก.แปรงไทยแห่งแรก
บจก.ไทยโรตารี่พลาสติก
บจก.ไทยโรตารี่พลาสติก
บจก.กรีนพลาสติกแอนด์เคมีคัล ผู้จำหน่ายเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์
พระคุณท่าน
พระคุณท่าน
Credit: Free Joomla! templates by Engine Templates, Modified by KPPM